Thursday, September 29, 2005

WATERGATE SCANDAL

(เพิ่งพิมพ์รายงานเสร็จ เอามาแบ่งกันอ่าน)

เหตุการณ์อื้อฉาว “วอเตอร์เกท”

อะไรคือวอเตอร์เกท
วอเตอร์เกท เป็นคำที่ใช้เรียกเครือข่ายที่ซับซ้อนของกรณีอื้อฉาวทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1972-74 หรือในช่วงของประธานาธิบดีนิกสัน
วอเตอร์เกท มาจากชื่อโรงแรม Watergate Complex ใน Washington D.C. ซึ่งเป็นทั้งโรงแรมและที่ตั้งสำนักงานจำนวนมาก รวมถึงสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee) ซึ่งมีการโจรกรรมเกิดขึ้น


ประธานาธิบดีริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน (Richard Milhous Nixon)
ประวัติทางการเมืองโดยย่อของประธานาธิบดีนิกสัน เริ่มจากการได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาคองเกรส ในปี 1947 ต่อมาปี 1952-59 ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับประธานาธิบดี Dwight David Eisenhower อยู่ 2 สมัย เมื่อพ้นวาระในปี 1960 จึงลงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันแข่งกับ John Fitzgerald Kennedy แต่แพ้ไปด้วยคะแนนเฉียดฉิว ทำให้ปีต่อมานิกสันลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐ California แต่ก็แพ้อีก จนกระทั่งหมดสมัยของประธานาธิบดี Lyndon Baines Johnson เขาจึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
5 พฤศจิกายน 1968 นิกสันชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา และเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มกราคม 1969 โดยพันธะสัญญาต่อชาวอเมริกันว่าจะเป็นผู้สิ้นสุดสงครามเวียดนาม และสี่ปีต่อมา นิกสันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกเป็นสมัยที่สองในปี 1972 แต่จากเหตุการณ์โจรกรรมที่ตึกวอเตอร์เกทและการพยายามปกปิดของนิกสัน นำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อถอนถอดประธานาธิบดี จนทำให้นิกสันต้องลาออกไปเองในวันที่ 8 สิงหาคม 1974


ลำดับเวลาของเหตุการณ์อื้อฉาววอเตอร์เกท
บริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองของคดีวอเตอร์เกท คือ ในปี 1971 หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสท์ได้ตีพิมพ์เอกสารของเพ็นตากอนว่าด้วยเรื่องสงครามเวียดนามขึ้น จากการเปิดเผยโดยเจ้าหน้าที่ในเพ็นตากอนเอง ทำให้นิกสันได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อวอชิงตันโพสท์ แต่ศาลสูงสุดได้ตัดสินให้วอชิงตันโพสท์ชนะ ในช่วงนี้นิกสันได้ตั้งหน่วยงานลับของทำเนียบขาว (White House Special Investigation Unit หรือ Plumbers) ไว้คอยอุดรอยรั่วต่างๆของฝ่ายบริหารและกำจัดศัตรูทางการเมืองของประธานาธิบดี รวมถึงผู้เปิดเผยเอกสารลับเพ็นตากอนด้วย นอกจากนั้นนิกสันยังได้ติดตั้งเครื่องบันทึกเทปการสนทนาและโทรศัพท์หลายเครื่องไว้ในห้องทำงานของประธานาธิบดีหรือ Oval Office
17 มิถุนายน 1972 ได้มีโจรบุกเข้าไปในสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต เรื่องอื้อฉาววอเตอร์เกทนี้คงไม่เกิดขึ้นหากพนักงานรักษาความปลอดภัยชื่อ Frank Wills ไม่เห็นความผิดสังเกตในคืนนั้น และโทรเรียกตำรวจในเวลา 1.47 น. จนกระทั่งเวลา 2.30 น. ตำรวจได้จับกุมชาย 5 คน ด้วยข้อหาบุกรุกเคหสถานของผู้อื่นยามวิกาล และพยายามลักลอบดักฟังโทรศัพท์และการติดต่อสื่อสารอื่นๆ
ชาย 5 คนที่ถูกจับกุมนั้น ได้แก่
Bernard L. Barker นักธุรกิจจาก Miami อดีตนักสืบ CIA และเคยร่วมในเหตุการณ์ Bay of Pigs 1962
Virgillo R. Gonzelas ช่างทำกุญแจจาก Miami เคยเป็นผู้ลี้ภัยจากคิวบา ในยุคของ Castro
James W. McCord ผู้ประสานงานด้านความมั่นคงของคณะกรรมการแห่งชาติพรรครีพับลิกัน และคณะกรรมการเลือกตั้งสมัยที่สองของประธานาธิบดี เขาเป็นอดีต FBI และ CIA ซึ่งหลังจากวันที่เกิดการโจรกรรมนี้ เขาโดนปลดจากทั้ง 2 ตำแหน่งทันที
Eugenio R. Martinez มีความสัมพันธ์กับ CIA และเป็นชาวคิวบาที่ถูกเนรเทศเพราะต่อต้าน Castro
Frank A. Sturgis มีความสัมพันธ์กับนักสืบ CIA และมีส่วนร่วมในการต่อต้าน Castro
หลังจากนั้นก็มีการสืบสวนสอบสวนตามปกติ แต่ด้วยเหตุที่ Barker และ McCord เป็นอดีต CIA และ FBI มาก่อน ทำให้นักข่าววอชิงตันโพสท์คิดว่าคดีนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองมากกว่าที่จะเป็นการโจรกรรมธรรมดา จึงเริ่มให้ความสนใจและติดตามคดีนี้ โดยมีนักข่าวหัวเห็ด Bob Woodward และ Carl Bernstein เป็นผู้ทำข่าวคดีนี้
ในช่วงแรก อดีตอัยการสูงสุด John Mitchell หัวหน้าคณะกรรมการรณครงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งสมัยที่สองของประธานาธิบดี ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องในการโจรกรรม แต่ต่อมาคณะกรรมการสืบสวนพบว่ามีเช็คเงินสด 25,000 ดอลลาร์สำหรับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนิกสันอยู่ในบัญชีของ Barker ( 1 ในโจร 5 คนที่บุกสำนักงานใหญ่เดโมแครต) ในที่สุดใน กันยายน 1972 คณะลูกขุนได้สั่งฟ้องโจรทั้ง 5 รวมถึงผู้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีอีก 2 คน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่
G. Gordon Liddy ที่ปรึกษาด้านการเงินของคณะกรรมการเลือกตั้งสมัยที่สองของประธานาธิบดี อดีต FBI อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว และอดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ซึ่งระหว่างการสอบสวนเขาได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม และถูกไล่ออกจากงาน
E Howard Hunt Jr. อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาวและเจ้าหน้าที่ CIA เขายังเคยเป็นนักเขียนนวนิยายจารกรรมและทำงานจารกรรมด้วย
ในการสืบสวน หน่วย FBI แสดงให้เห็นว่าการบุกรุกเข้าตึกวอเตอร์เกท เป็นการจารกรรมและก่อวินาศกรรมทางการเมือง ในความพยายามที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองของนิกสัน
7 พฤศจิกายน 1972 นิกสันได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วยคะแนนที่เป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก George McGovern จากพรรคเดโมแครตถูกโจมตีให้ถอด Thomas Eagleton ผู้สมัครรับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีคู่กันออก เนื่องจากเขาเคยมีอาการป่วยทางจิตมาก่อน ข่าวนี้ทำให้คะแนนเสียงของเดโมแครตลดลง โดย McGovern ชนะเพียงมลรัฐ Massachusetts และ Washington D.C. ในขณะที่นิกสันชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 49 ในจำนวนทั้งหมด 50 มลรัฐ แม้จะมีคดีวอเตอร์เกทอยู่ก็ตาม
มกราคม 1973 จำเลยทั้ง 5 ยอมรับสารภาพในขั้นแรกของการสอบสวนคดี แต่คดีก็ยังไม่คลี่คลาย โดย McCord และ Liddy ต้องสงสัยว่ามีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิด จนกระทั่ง 7 กุมภาพันธ์ 1973 สภา Senate ได้จัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิเศษสำหรับคดีวอเตอร์เกทขึ้น ในระหว่างนี้ McCord ยังไม่ยอมรับสารภาพ แต่กลับเขียนจดหมายถึงผู้พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 5 คนที่รับสารภาพไปแล้วนั้นเพราะถูกกดดัน รวมทั้งยังบอกว่ามีการให้การเท็จและมีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆอีก
เมื่อการสอบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวพัวพันมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคน อย่าง H.R. Heldeman และ John Ehrlichman รวมถึงอัยการสูงสุด Richard Kleindienst ลาออก ส่วนที่ปรึกษาทำเนียบขาว John Dean ถูกไล่ออก และเนื่องจากคดีนี้กระทบต่อการเมืองของสหรัฐอเมริกาอยู่มาก และอยู่ในความสนใจของประชาชน ในเดือน พฤษภาคม 1973 ทางคณะกรรมการสอบสวนคดีวอเตอร์เกท ของสภา Senate จึงได้มีการพิจารณาคดีผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยมี Archibald Cox ได้รับแต่งตั้งเป็นอัยการพิเศษในคดีนี้
ในการสอบสวน คณะกรรมการวอเตอร์เกทพบบันทึกของ John Ehrlichman ซึ่งบรรยายถึงรายละเอียดแผนการโจรกรรมเอกสารของผู้เปิดเผยเอกสารลับเพ็นตากอน ส่วน John Dean รับสารภาพว่าเขาเคยสนทนากับประธานาธิบดีถึงการปกปิดแผนการวอเตอร์เกทนี้อย่างน้อย 35 ครั้ง และเขาสรุปว่าการจารกรรมทางการเมืองครั้งนี้อยู่ภายใต้ภารกิจของทำเนียบขาว โดยนิกสันมีส่วนร่วมเพียง 2-3 วันก่อนการโจรกรรม หลังจากนั้นอดีตเลขานุการของประธานาธิบดีนิกสัน Alexander Butterfield เปิดเผยว่า นิกสันได้บันทึกบทสนทนาและโทรศัพท์ในห้องทำงาน Oval Office ไว้ทุกครั้ง ตั้งแต่ปี 1971
กรกฎาคม-ธันวาคม 1973 นิกสันสั่งให้ถอดเทปทั้งหมดในทำเนียบขาว หลังจากนั้นคณะกรรมการสอบสวนคดีมีหมายศาลสั่งให้นิกสันส่งมอบเทปที่บันทึกทั้งหมด แต่นิกสันปฏิเสธโดยอ้างสิทธิพิเศษของฝ่ายบริหารที่จะปกป้องความลับที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ พร้อมทั้งยังปลดอัยการพิเศษของคดีนี้ Archibald Cox ออกจากตำแหน่ง โดยแต่งตั้ง Leon Jaworski ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษคนใหม่แทน แต่อย่างไรก็ดีอัยการคนใหม่ก็ไม่ยอมให้นิกสันใช้อำนาจประธานาธิบดีมายับยั้งการสอบสวนไว้ได้ ประกอบกับแรงกดดันจากประชาชน ในที่สุดนิกสันก็ยอมมอบเทปให้กับคณะกรรมการ พร้อมกับประกาศยืนยันความบริสุทธิ์ของตน
เทปที่นิกสันส่งมอบให้กับคณะกรรมการนั้น เป็นเทปที่ถูกลบเสียงบางส่วนออกไป เป็นความยาวถึง 18 นาทีซึ่งทำเนียบขาวไม่สามารถให้คำอธิบายได้ แต่มีผู้กล่าวพาดพิงถึงผู้มีอำนาจว่าเป็นผู้ลบเสียงส่วนนั้นไป ต่อมาใน เมษายน 1974 ทำเนียบขาวได้ส่งมอบถอดเทปเป็นบันทึกที่ปรับปรุงแล้วหนากว่า 1,200 หน้า แต่คณะกรรมการสอบสวนยังยืนยันให้ส่งเทปตัวจริง
การลาออกของประธานาธิบดีนิกสัน
การพิจารณาคดีของคณะกรรมการสอบสวนพบว่าหลักฐานหลายอย่างได้เปิดโปงไปถึงความเกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีนิกสัน ในขณะนั้นการเมืองของสหรัฐอเมริกาจึงเกิดการต่อสู้ทางการเมืองและกฎหมาย ระหว่างประธานาธิบดีและสภาคองเกรส ซึ่งได้มีการเคลื่อนไหวให้ถอดถอนประธานาธิบดี
6 กุมภาพันธ์ 1974 สภาคองเกรสได้ผ่านมติที่ 803 ด้วยคะแนนเสียง 410 ต่อ 4 จากผู้แทนจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน มอบอำนาจให้กับคณะกรรมการสอบสวน ในกระบวนการพิจารณาถอดถอนนิกสัน โดยมีคำสั่งให้สอบสวนได้อย่างเต็มที่และสมบูรณ์ และคณะกรรมการจะรายงานต่อสภาผู้แทนเป็นมติ อนุมาตราในการถอดถอน หรือการเสนอแนะอย่างอื่นที่คิดว่าเหมาะสม จนกระทั่ง 27 กรกฎาคม 1974 คณะกรรมการได้ผ่านกฎหมายอนุมาตราการถอดถอนต่อสภาผู้แทนฉบับแรกในจำนวนทั้งหมดสามฉบับ ซึ่งกล่าวหานิกสันถึงการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันศาลสูงสุดก็มีคำสั่งให้นิกสันส่งมอบเทปที่บันทึกการสนทนาในทำเนียบขาวทั้งหมด 64 ม้วนโดยเด็ดขาด
5 สิงหาคม 1974 นิกสันยอมมอบเทปที่สนทนากับ Heideman ซึ่งเปิดเผยว่า นิกสันได้สั่งให้ FBI เลิกสอบสวนคดีการโจรกรรมที่ตึกวอเตอร์เกท เพราะเกรงว่าจะเผยถึงการเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง และเมื่อ8 สิงหาคม 1974 นิกสันประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนจะถูกถอดถอน โดย Gerald Ruldoph Ford รองประธานาธิบดีเข้ารับตำแหน่งต่อ และอีก 1 เดือนต่อมา Ford ก็ได้ประกาศอภัยโทษทั้งหมดแก่นิกสัน

ผลที่ตามมาภายหลังคดีวอเตอร์เกท
1. Richard Milhous Nixon เป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาที่ลาออกจากตำแหน่ง และถูกดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การถอดถอน แม้จะไม่โดนถอดถอนเพราะชิงลาออกก่อนก็ตาม แต่การดำเนินการนั้นก็เป็นแบบอย่างให้กับกรณีของประธานาธิบดี William Jefferson Clinton หรือ Bill Clinton ในอีก 20 ปีต่อมา
2. Gerald Rudolph Ford ลาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดี และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากนิกสัน
3. ความเสียหายทั้งหมด และบทลงโทษในคดีนี้ ส่งผลให้ประธานาธิบดีลาออก 1 คน และรองประธานาธิบดีลาออก 1 คน นอกจากนั้นแล้วยังมีข้าราชการอีก 40 คนถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี หรือติดคุก โดยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูงในทำเนียบขาว ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาของอดีตประธานาธิบดีนิกสัน ถ้าไม่ติดคุก ก็หันไปเขียนหนังสือ หรือพึ่งศาสนา
4. ผลกระทบต่อสังคมอเมริกันคือ อเมริกาในฐานะต้นแบบและผู้นำประชาธิปไตยแห่งโลกเสรีเกิดความสั่นคลอนทันที เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของอเมริกา อย่างน้อยด้านหนึ่งก็คือทำให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยของโลกเสรีไม่ได้ทำให้ได้ผู้นำที่ดีมาปกครองประเทศ
5. ผลเสียหายจากคดีนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นตามมา เช่น การปฏิรูปการสนับสนุนด้านการเงินให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง หรือสื่อมีทัศนคติที่ก้าวร้าวและมั่นใจมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาทีมนักข่าวสืบสวนของหนังสือพิมพ์ทั่วโลก
6. คำว่า วอเตอร์เกท ได้กลายเป็นศัพท์ที่หมายถึงการทำผิดกฎหมาย และการคอรัปชั่น ได้แก่ การโจรกรรมทางการเมือง การติดสันบน การบีบบังคับ กรรโชก การดักฟังทางโทรศัพท์ การสมรู้ร่วมคิด การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม การทำลายหลักฐาน การปลอมแปลงภาษี การใช้หน่วยงานของรัฐในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น CIA และ FBI การสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งอย่างผิดกฎหมาย และการใช้เงินสาธารณะเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตน
หลังจากนั้นเมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวทางการเมือง ก็จะถูกตั้งชื่อให้ลงท้ายด้วยคำว่า “เกท” เช่น สมัยประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ มีกรณี Iraq-Gate เป็นกรณีที่มีการโกงเงินกู้การเกษตรของอิรัก แต่แทนที่ประธานาธิบดีจะให้มีการสอบสวน กลับไม่ใส่ใจและโอนเงินไปเพิ่มอีกพันล้านเหรียญ, สมัยของประธานาธิบดีบุช คนปัจจุบัน ก็มีกรณี Taiwan-Gate ที่กล่าวหาว่าบุชรับเงินสินบน 4 หมื่นล้านจากไต้หวันเพื่อค้าอาวุธให้, เรียกการโกงภายในบริษัทรถยนต์ Volkswagen ว่า VW-Gate, หรือแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็มีกรณี Leak-Gate หรือ Spy-Gate ที่กำลังอยู่ในชั้นศาล เป็นต้น
7. นอกจากนั้นก็มีหนังสือ และภาพยนตร์เกิดขึ้นบนเรื่องราวของจากคดีนี้เป็นจำนวนมาก


สิ่งที่สะท้อนความเป็นอเมริกัน
ค่านิยมด้านการเมือง
1. สถาบันรัฐธรรมนูญและสถาบันอื่นๆที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ
1.1) ความเชื่อว่าประธานาธิบดีมีอำนาจสูงสุดได้เปลี่ยนไป เพราะประธานาธิบดีเองก็ยังทำผิดเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ทำให้ภาคประชาชนและสื่อมวลชนต้องตรวจสอบมากขึ้น สิทธิพิเศษของการเป็นผู้บริหารประเทศได้ลดลง และถึงแม้ประชาชนจะเทคะแนนเสียงให้ประธานาธิบดีคนใดเยอะก็ตาม ประธานาธิบดีก็ยังสามารถออกจากตำแหน่งได้โดยง่าย ถ้าประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ประมุขของประเทศ

1.2) คนอเมริกันจะปกป้องสถาบันรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก และรักษากรอบกฎหมายของรัฐธรรมนูญ
- การให้สถาบันตุลาการศาลอยู่สูงที่สุด เพราะเป็นสถาบันที่คอยตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่ให้มีการปฏิบัตินอกกรอบรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด เห็นได้จากเมื่อนิกสันอ้างสิทธิพิเศษเพื่อจะไม่ส่งมอบเทป แต่ศาลก็ยังยืนยันคำสั่ง ทำให้ต้องส่งมอบในที่สุด
- สถาบันผู้พิพากษา ยึดหลักความยุติธรรม ดูตามความผิด-ถูก ไม่มีระบบอุปถัมภ์ เห็นได้จากเมื่อนิกสันถอดอัยการ Cox ออกจากตำแหน่งและแต่งตั้ง Jaworski แทน แต่อัยการคนใหม่ก็ไม่ยอมให้ประธานาธิบดีใช้อภิสิทธิ์ใดๆได้ แล้วยังเสนออนุมาตราเพื่อถอดถอนนิกสันด้วย
- สภาคองเกรส มีอิสระและมีอำนาจมาก เพราะเป็นได้รับคะแนนเสียงโดยตรงจากประชาชน ในการไต่สวนคดีและการรับรองอนุมาตราถอดถอนโดยคณะตุลาการนั้น ก็ได้รับการลงคะแนนจากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีเอง
1.3) หลักความรับผิดชอบ นิกสันแม้อยู่ในอำนาจของประธานาธิบดี เมื่อทำผิด ก็ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทน ซึ่งเป็นที่ประชุมที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนโดยตรงอย่างมากที่สุด
1.4) ความเป็นสหรัฐอเมริกา คือ ชาวอเมริกันจะเห็นแก่ภาพลักษณ์ของประเทศมาก เห็นจากการที่นิกสันที่เป็นผู้ประกาศว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์มาโดยตลอด ชิงลาออกก่อนที่จะถูกถอดถอน ด้วนความที่อยู่ในฐานะของผู้นำโลกเสรี ก็ไม่อยากทำผิดกติกาเสียเอง หรือตอนที่ฟอร์ดประกาศอภัยโทษให้แก่นิกสัน ก็เพื่อให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์และรักษาภาพลักษณ์ของประเทศ
2. ค่านิยมที่สะท้อนจากสื่อมวลชน
2.1) เสรีภาพของสื่อมวลชน
- สื่อมวลชนจะมีอิสระมาก ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายการเมือง แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากฝ่ายการเมืองก็ตาม จากกรณีที่บรรณาธิการบริหารของวอชิงตันโพสท์ถูกข่มขู่ว่าจะเอาเข้าคุก แต่ก็ยังสนับสนุนให้นักข่าวตีพิมพ์เอกสารของเพ็นตากอน และคดีวอเตอร์เกทอย่างเต็มที่
- สื่อ เป็นตัวแสดงหลักที่คุ้ยข่าวคดีนี้ และเป็นผู้สร้างกระแสให้ภาคประชาชนเห็นความจริง จนกดดันให้นิกสันต้องลาออกจากตำแหน่ง
- ประชาชนไว้ใจสื่อมากกว่ารัฐบาล เหตุนี้สื่อจึงมีอิทธิพลต่อการเมืองค่อนข้างมาก คืออยู่เหนือการเมือง
- ให้ความสำคัญกับระบบตรวจสอบโดยสื่อมาก โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นผลเสียหายต่อประเทศแล้ว สื่อจะติดตามไม่ปล่อย
2.2) นักข่าววอชิงตันโพสท์ที่ทำข่าวคดีนี้ Bob Woodward และ Carl Bernstein
- จรรยาบรรณนักข่าวที่นำเสนอแต่ความจริง ทำให้คนเชื่อถือสื่อมากกว่ารัฐบาล มีความละเอียดถี่ถ้วน มีหลักฐานและความรู้อย่างดีในเรื่องที่นำเสนอ นอกจากนั้นยังสามารถปกปิดชื่อแหล่งข่าวได้เป็นเวลาถึง 30 ปีจนกระทั่งแหล่งข่าวออกมาเปิดเผยตัวเอง
- มีอิสระสูงมากในการทำข่าว ไม่เกรงอำนาจใคร มีความก้าวร้าวและมั่นใจ ส่งผลให้แต่เดิมที่สื่อมองประธานาธิบดีแต่ด้านดี ไม่ค่อยโต้แย้ง ก็ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำเช่นเดียวกับคนทั่วไป และด้วยบุคลิกการทำข่าวของทั้งคู่ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทีมนักข่าวสืบสวนของหนังสือพิมพ์ทั่วโลก
3. ภาพสะท้อนความเป็นอเมริกัน จากตัวละครที่เป็นแหล่งข่าวนิรนาม ในฉายา Deep Throat
- กล้าเปิดเผยความจริง ทั้งๆที่ตนอยู่ในตำแหน่งที่สูงในตอนนั้น คือเป็นหมายเลข 2 ของ FBI แต่ก็ยังกล้ามาเปิดเผยให้กับนักข่าววอชิงตันโพสท์ เพราะเป็นว่าฝ่ายการเมืองมีความผิด โดยไม่ได้คำนึงว่าอีกผ่ายเป็นประธานาธิบดี ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศและอยู่เหนือตน
- สะท้อนนิยมแห่งความถูกต้อง แม้ปัจจุบันออกมาเปิดเผยตัวแล้ว แต่ Mark Felt ก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่โดนอำนาจมืดทำร้าย ไม่ถูกข่มขู่หรือสั่งเก็บ ตรงกันข้ามกลับเป็นที่ชื่นชมของชาวอเมริกัน

0 Comments:

Post a Comment

<< Home